BAIYOKE NEWS

วันที่ลงข่าว 24/07/2017

ทรูปลูกปัญญาประกาศสุดยอด 15 โครงงาน

'นักวิทย์น้อยทรู'

ผู้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ระดับประถมศึกษา ระดับชาติ ประจำปี 2560

ในหัวข้อ 'วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย 4.0'

  

          สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทยร่วมกับกลุ่มทรู  จัดการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษา ระดับชาติ อย่างต่อเนื่องมา 22 ปี แล้ว โครงการนี้ได้ปลูกฝังเด็กไทยให้รักในการคิด การค้นคว้า การสังเกตุ การวิเคราะห์ผ่านการทำโครงงาน โดยมี รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย และประธานในการตัดสิน คุณชุมพล นิ่มสุพรรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม กลุ่มทรู พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคมฯ ดำเนินการคัดเลือกผลงาน ณ ห้องสกายรูม โรงแรมไบหยกสกาย

          ในปีนี้มีโครงงานวิทยาศาสตร์ส่งเข้าประกวดจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 315 โครงงาน จาก 59 จังหวัด และ 217 โรงเรียน โดยโครงงานที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ 15 ทีมสุดท้ายในปีนี้มีดังนี้


ประเภททดลอง จำนวน 6 โครงงาน

 

• โครงงานการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัสดุดูดซับน้ำในการทำกระถางต้นไม้แก้มลิง

     โรงเรียนวัดมหาธาตุ  จ.นครศรีธรรมราช

 โครงงานการศึกษาเปรียบเทียบอัตราส่วนและตัวทำละลายในการทำผ้ามัดย้อมโดยใช้ดิน 'สีมายา'

     โรงเรียนนิบงชนูปถัมภ์  จ.ยะลา

 โครงงานไข่เค็มสมุนไพรเร็วทันใจสู่อาเซียน

     โรงเรียนบ้านโนนสัง  จ.นครราชสีมา

 โครงงานเตาดินอบถ่าน

     โรงเรียนบ้านหนองกก  จ.ศรีสะเกษ

 โครงงานผลของการใช้สีธรรมชาติในการเปลี่ยนสีของข้าวเปลือกต่อการป้องกันผีเสื้อข้าวเปลือก

     โรงเรียนสันติศึกษา  จ.เชียงใหม่

 โครงงานการพัฒนาสีย้อมผ้าจากใบหูกวางด้วยอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ 

     โรงเรียนวัดปานประสิทธาราม  จ.สมุทรปราการ

 

ประเภทสิ่งประดิษฐ์ จำนวน 8 โครงงาน

 

 โครงงานเครื่องขจัดหนามระกำ

    โรงเรียนวัดบางเตยนอก  จ.ปทุมธานี

 โครงงานเครื่องชาร์จไฟแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือพลังงานฟรี 

     (The battery charger mobile power free)

    โรงเรียนบ้านบกหนองทันน้ำ  จ.อุบลราชธานี

  โครงงานเครื่องล่อแมลงให้อาหารปลา

    โรงเรียนอนุบาลเวียงแก่น  จ.เชียงราย

  โครงงานตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์

     โรงเรียนวัดมหาธาตุ  จ.นครศรีธรรมราช

 โครงงานเตา 4.0 กับถ่านใบไม้ร้อนแรงช่วยชาติอยู่รอดปลอดมลพิษ 

     โรงเรียนวัดแสมดำ  กรุงเทพฯ

  โครงงานฝาท่อมหัศจรรย์

     โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์  กรุงเทพฯ

 โครงงานอุปกรณ์ช่วยเก็บลูกปิงปอง

     โรงเรียนผดุงวิทย์  จ.เพชรบูรณ์

 โครงงานอุปกรณ์ช่วยจับสำหรับคนพิการ

     โรงเรียนอนุบาลเวียงแก่น  จ.เชียงราย


ประเภทสำรวจ จำนวน 1 โครงงาน

 

 โครงงานการสำรวจแมลงน้ำเพื่อเป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำของน้ำตกมิโอฉ่อแต๊ะ ตำบลวาวี

    อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

     โรงเรียนบ้านทุ่งพร้าว (เพ็คกี้ฮิทค็อก) จ.เชียงราย

 

          ขอเชิญผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการ การแสดงผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ และร่วมเป็นแรงใจให้กับนักวิทย์น้อยทรูทั้ง 15 ทีม ในการนำเสนอโครงงานต่อหน้าคณะกรรมการในรอบชิงชนะเลิศ วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม 2560 ณ ห้องประชุม 101 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกาเป็นต้นไป โรงเรียนที่ชนะการประกวดรางวัลเหรียญทอง จะได้รับชุดอุปกรณ์และสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ในโครงการทรูปลูกปัญญา และได้เข้าร่วมเป็นโรงเรียนในโครงการทรูปลูกปัญญาอีกด้วย...

รายละเอียดโครงการนักวิทย์น้อยทรู ประจำปี 2560

โครงการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ระดับประถมศึกษา ระดับชาติ ประจำปี 2560

หัวข้อ  “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย 4.0”

โดย  สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย ร่วมกับ กลุ่มทรู

 

 

หลักการและเหตุผล

 

      การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่  2  (พ.ศ. 2552 – 2561)  เน้นการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทยการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่เน้นให้นักเรียนพัฒนาการคิดระดับสูง การประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเสริมวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมีคุณภาพ การจัดการเรียนรู้บูรณาการเน้นให้นักเรียนทำโครงงานวิทยาศาสตร์ อันเป็นการพัฒนาให้นักเรียนสามารถสร้างความรู้ เป็นผู้มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และมีจิตวิทยาศาสตร์  กล่าวคือ  มีความสนใจใฝ่รู้  ความมุ่งมั่น  อดทน รอบคอบ  ความรับผิดชอบ  ความซื่อสัตย์  ประหยัด  การร่วมแสดงความคิดเห็นและยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ความมีเหตุผล  การทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์  ด้วยการเป็นอยู่อย่างพอเพียงคือ  การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต  ทั้งในการเรียนและในชีวิตประจำวัน

      ในช่วงยุคศตวรรษที่ 21 (ค.ศ. 2001-2100) เป็นยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการพัฒนาคนและนวัตกรรม การศึกษาเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาคน ให้สามารถสร้างนวัตกรรม นโยบายสำคัญคือ การสร้างเด็กไทย 4.0 ให้มีลักษณะเด่นคือ ความสามารถสร้างนวัตกรรมผ่านการทำโครงงาน เป็นนวัตกรรมที่อาจได้จากโครงงานสำรวจ โครงงานทดลองและโครงงานประดิษฐ์ อีกทั้งการสร้างโครงงานตามแนว STEM ก็เป็นแนวทางสำคัญของการสร้างผลผลิตที่มีความเป็นนวัตกรรม เด็กไทย 4.0 เมื่อเติบโตเป็นเยาวชนคนไทย 4.0 ที่สามารถสร้างผลผลิตที่ทำรายได้สูง อันเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยแลนด์ 4.0 

    สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย  (สวทศ.)  เห็นความสำคัญของการส่งเสริมเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา   จึงได้ร่วมกับกลุ่มทรู  จัดโครงการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ระดับประถมศึกษา  ระดับชาติ  ประจำปี  2560 ในหัวข้อเรื่อง “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย 4.0” โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างนักเรียนให้มีทักษะศตวรรษที่ 21 คือ มีทักษะการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อตอบแทนสังคมด้วยการทำโครงงานหรือทำวิจัยพื้นฐาน


วัตถุประสงค์

 

เพื่อให้นักเรียนประถมศึกษา

1.มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการทำโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

2.สามารถดำเนินการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ พัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ด้วยการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้

3. มีจิตวิทยาศาสตร์ ค่านิยมหลัก 12 ประการ อยู่อย่างพอเพียง ใฝ่เรียนใฝ่รู้ และมีจิตสาธารณะ

 

เป้าหมาย

 

       นักเรียนระดับประถมศึกษาสามารถทำโครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทต่างๆ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งสิ่งแวดล้อมให้สามารถอยู่อย่างยั่งยืน 

 

ผู้รับผิดชอบโครงการ

 

   • สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย (สวทศ.)

   • กลุ่มทรู 

 

ระยะเวลาดำเนินงาน

 

เปิดรับโครงงาน วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน 2560
ปิดรับโครงงาน วันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2560

แจ้งผลการคัดเลือกรอบสุดท้ายทาง

www.trueplookpanya.com, www.baiyokehotel.com   

วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม 2560
นำเสนอโครงงานที่เข้ารอบสุดท้ายและตัดสินผล วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม 2560
นักวิทย์น้อยทรูทัศนศึกษา วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม 2560

 

ลักษณะโครงงานวิทยาศาสตร์

 

     โครงงานวิทยาศาสตร์ที่ส่งประกวดจะต้องเป็นโครงงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมโดยแบ่งเป็นโครงงานประเภทสำรวจ โครงงานประเภททดลอง หรือโครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาหาความรู้เพื่อให้ได้คำตอบเกี่ยวกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือการอนุรักษ์ และการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ การนำกลับมาใช้ใหม่ การลดมลพิษของสิ่งแวดล้อม การหาหรือสร้างสิ่งทดแทนที่มีอยู่เดิม การประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ การพัฒนาและหรือการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งด้านความรู้ ความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัย อาชีพ รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อชีวิต

 

คุณสมบัติผู้สมัคร

 

1.เป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 ในโรงเรียนภาครัฐและเอกชน ทั่วประเทศในทุกสังกัด

2.นักเรียนต้องสมัครเป็นทีม ทีมละ 2 - 3 คน ต่อ 1 โครงงาน

3.นักเรียนหนึ่งคนมีสิทธิ์สมัครเข้าร่วมประกวดโครงงานได้เพียง 1 โครงงานเท่านั้น


ระเบียบการสมัคร

 

1.ครู/อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน 1 - 3 คน ต่อ 1 โครงงาน

2.โรงเรียนแต่ละโรงเรียนสามารถส่งโครงงานเข้าร่วมประกวดได้ไม่เกิน 6 โครงงาน 

3.โครงงานที่ส่งเข้าประกวดจะต้องไม่คัดลอกโครงงานของผู้อื่นส่งเข้าประกวด

4.โครงงานที่ส่งเข้าประกวดจะต้องประกอบด้วย

    4.1 เอกสารโครงงานวิทยาศาสตร์ฉบับสมบูรณ์ 1 ฉบับ ตามหลักการเขียนโครงงานที่ถูกต้อง พร้อมระบุชื่อโครงงานและประเภทของโครงงานอย่างชัดเจน

    4.2 กรอกใบสมัคร พร้อมรายละเอียดต่าง ๆ ให้ครบถ้วน โดยสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้จาก www.trueplookpanya.com รวมถึงสามารถจัดทำแบบฟอร์มดังกล่าวได้เองตามตัวอย่าง

    4.3 แนบไฟล์ภาพโดย write ลงแผ่น CD แนบมาในเอกสาร ประกอบด้วย

        4.3.1 รูปขั้นตอนการทำโครงงานที่ชัดเจนจำนวน 5 - 7  รูป

        4.3.2 รูปนักเรียนที่ทำโครงงานเห็นหน้าชัดเจนจำนวน  2  รูป

        4.3.3 รูปผลงานที่สำเร็จจำนวน  2  รูป


เกณฑ์การคัดเลือกรอบแรก

 

พิจารณาจาก

1.ความคิดริเริ่มของปัญหาหรือหัวข้อเรื่องที่นำมาศึกษา

2.ความถูกต้องเหมาะสมของการออกแบบการทดลองหรือการศึกษาหาคำตอบ

3.ความถูกต้องตามหลักเกณฑ์และกระบวนการทดลองหรือศึกษา 

4.การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์  และเครื่องมือที่ถูกต้องและประหยัด

5.การวิเคราะห์ข้อมูล การสื่อความหมายข้อมูล การแปลความหมายและสรุปผล

6.ความชัดเจนและถูกต้องของการเขียนรายงานโครงงาน

 

สำหรับโครงงานที่เข้ารอบสุดท้าย จำนวน 15 โครงงาน

 

1.นักเรียนต้องนำแผงโครงงานมาแสดงตามขนาดที่กำหนด (0.60 เมตร x 1.2 เมตร) 

2.นักเรียนเจ้าของโครงงานต้องเดินทางมาที่กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอโครงงานด้วยวาจาบนเวที โดยผู้จัดจะสนับสนุนค่าเดินทางและที่พักให้อาจารย์ที่ปรึกษาจำนวน 1 ท่าน พร้อมนักเรียนที่ทำโครงงาน

3.นักเรียนต้องนำเสนอโครงงานด้วยวาจา พร้อมสื่อโสตทัศนูปกรณ์ เช่น วีดิทัศน์ โปรแกรมการนำเสนอ (MS-PowerPoint) หรือตามความเหมาะสม ภายในเวลา 10 นาที และตอบข้อซักถามของคณะกรรมการ 5 นาที รวมเวลา 15 นาที 

4.การตัดสินของกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด และผู้จัดการประกวดสามารถนำไปเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ โดยไม่ต้องขออนุญาต


รางวัลในการประกวด

 

•  รางวัลเหรียญทอง 

     - ชุดอุปกรณ์และสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ และได้เข้าร่วมเป็นโรงเรียนในโครงการทรูปลูกปัญญา

     - เงินสนับสนุนการทำโครงงาน 7,000 บาท

     - เหรียญรางวัล และเกียรติบัตร

 

• รางวัลเหรียญเงิน และเหรียญทองแดง

    - เงินสนับสนุนการทำโครงงาน 7,000 บาท

     - เหรียญรางวัล และเกียรติบัตร

• รางวัลชมเชย จำนวน 10 รางวัล

     - เงินสนับสนุนการทำโครงงาน รางวัลละ 1,000 บาท

 

หมายเหตุ

 

• โครงงานที่ส่งเข้าประกวดทุกโครงงานจะได้รับเกียรติบัตรจากสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย และกลุ่มบริษัททรู

• ชุดอุปกรณ์และสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้  จากโครงการทรูปลูกปัญญา  ประกอบด้วย

     1) เครื่องรับโทรทัศน์สี ขนาด 43 นิ้ว พร้อมตู้เก็บอุปกรณ์ จำนวน 1 ชุด  

     2) ชุดอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม พร้อมช่องรายการสาระความรู้จากทรูวิชั่นส์ กว่า 80 ช่อง ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นรายการคุณภาพที่เด็กทั่วโลกควรได้ดู เช่น ช่องสารคดีเกี่ยวกับธรรมชาติและชีวิตสัตว์ Animal Planet ช่องสารคดีเกี่ยวกับธรรมชาติ ภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม National Geographic Channel ช่องสารคดี เกี่ยวกับประวัติศาสตร์โลก วัฒนธรรม และอัตชีวประวัติบุคคลสำคัญของโลก History Channel, Discovery Channel True Explore wild True Explore Life ช่องรายการสำหรับเด็กและครอบครัว Disney Channel และ True Spark เป็นต้น

     3) สื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ “ทรูคลิกไลฟ์” ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 6

     4) สื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 - ประถมศึกษาปีที่ 6  

     5) สื่อดิจิทัลเสริมการเรียนการสอน 8 กลุ่มสาระฯ  ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประถมศึกษาปีที่ 6

     6) เกมพอเพียง เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนเรียนรู้แนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบที่สนุกสนานและได้ความรู้

     7) หนังสือการ์ตูนสามเณรปลูกปัญญาธรรม เพื่อปลูกฝังคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรมให้กับเด็ก

     8) หนังสือนิทาน 5 ให้ เพื่อปลูกฝังให้เด็กรู้จักการให้ในหลายๆ รูปแบบ


สถานที่ส่งโครงงาน

 

     • สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย  

         เลขที่ 222 (โรงแรมใบหยกสกาย)  ถ.ราชปรารภ  เขตราชเทวี  กรุงเทพฯ  10400

         คุณสุชีรา เจศรีชัย  โทรศัพท์  0-2656-3000 กด 72150  โทรสาร 0-2656-3228

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

 

     • สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย

         รองศาสตราจารย์ลัดดา ภู่เกียรติ  โทรศัพท์  08-6388-2431

         รองศาสตราจารย์พเยาว์ ยินดีสุข  โทรศัพท์  08-1922-0853

         อาจารย์ ดร.พรเทพ จันทราอุกฤษฎ์  โทรศัพท์  08-1875-5832

     • ฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม กลุ่มทรู  โทรศัพท์  0-2764–9763  

 

 

ตัวอย่างโครงงาน

 

 

 

 

 

ที่มา ทรูปลูกปัญญา